วันอาทิตย์ที่ 15 ธันวาคม พ.ศ. 2556

พัฒนาการแห่งพระสูตร


พัฒนาการแห่งพระสูตร

พระสุตตันตปิฎก เป็นปิฎก ๑ ในจำนวน ๓ ปิฎกที่เรียกว่า พระไตรปิฎก คือ (๑) พระวินัยปิฎก (ประมวลพุทธพจน์หมวดพระวินัย) (๒) พระสุตตันตปิฎก (ประมวลพุทธพจน์หมวดพระสูตร) (๓) พระอภิธรรมปิฎก (ประมวลพุทธพจน์ หมวดพระอภิธรรม)
พระสุตตันตปิฎก ซึ่งประมวลพุทธพจน์หมวดพระสูตรนั้นประกอบด้วยพระธรรมเทศนาและธรรมบรรยายต่าง ๆ ที่ตรัส ยักเยื้องให้เหมาะกับบุคคล เหตุการณ์ และโอกาส ตลอดจนบทประพันธ์ เรื่องเล่า และเรื่องราวทั้งหลายที่เป็นชั้นเดิมในพระพุทธศาสนา
ที่เรียกพระธรรมเทศนาและธรรมบรรยายทั้งหลายในพระสุตตันตปิฎกว่า “สูตร? พระอรรถกถาจารย์ผู้รจนาคัมภีร์สุมังคลวิลาสินี อธิบายว่า เพราะมีความหมาย ๖ อย่าง คือ
๑.  เพราะบ่งถึงประโยชน์ (อตฺถานํ สูจนโต) คือชี้ให้เห็นประโยชน์ตนและประโยชน์ผู้อื่น
๒.  เพราะมีอรรถที่ตรัสไว้ดีแล้ว (สุวุตฺตโต) คือตรัสตามอุปนิสัย หรืออัธยาศัยของเวไนยสัตว์ (ผู้ควรแนะนำ)
๓.  เพราะผลิตประโยชน์ (สวนโต) คือก่อให้เกิดผลดุจข้าวกล้าที่เจริญ เติบโตแล้ว ผลิตรวงข้าวต่อไปได้
๔.  เพราะหลั่งประโยชน์ (สูทนโต) คือทำให้ประโยชน์หลั่งไหลออกมาดุจแม่โคนมหลั่งน้ำนมออกมา
๕.  เพราะป้องกันด้วยดี (สุตฺตาณา) คือรักษาประโยชน์ทั้งหลายไว้ได้ด้วยดี
๖. เพราะมีส่วนเสมอด้วยเส้นด้าย (สุตฺตสภาคโต) คือใช้เป็นบรรทัดฐานในการประพฤติปฏิบัติของวิญญูชนดุจเส้นบรรทัดของช่างไม้
มูลเหตุที่พระผู้มีพระภาค (รวมทั้งพระอรหันตสาวก) ทรงแสดงพระสูตร ทั้งหลาย พระอรรถกถาจารย์ผู้รจนาคัมภีร์สุมังคลวิลาสินีอธิบายว่ามี ๔ ประการ คือ
๑.  อัตตัชฌาสยะ ทรงแสดงตามพระอัธยาศัยของพระองค์เอง โดยไม่ต้องมีผู้ใดทูลขอให้ทรงแสดง เช่น อากังเขยยสูตร (ม.มู.) วัตถสูตรหรือวัตถูปมสูตร (ม.มู.) มหาสติปัฏฐานสูตร (ที.ม.) มหาสฬายตนสูตร (ม.อุ.)
๒.  ปรัชฌาสยะ ทรงแสดงตามอัธยาศัยของผู้อื่นที่ทรงตรวจดูด้วยพระญาณก่อนเสด็จไปโปรด เช่น ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร (สํ.ม., วิ.ม.) จูฬราหุโลวาทสูตร (ม.ม) ธาตุวิภังคสูตร (ม.อุ.)
๓.  ปุจฉาวสิกะ ทรงแสดงตามคำทูลถาม เช่น สามัญญผลสูตร (ที.สี.) เตวิชชสูตร (ที.สี.) สักกปัญหสูตร (ที.ม.) มังคลสูตร (ขุ.ขุ., ขุ.สุ.) พระสูตรต่าง ๆ ในโพชฌังคสังยุต (สํ.ส.) มารสังยุต (สํ.ส.) พรหมสังยุต (สํ.ส.)
๔.  อัตถุปปัตติกะ ทรงแสดงตามเรื่องหรือเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในขณะนั้น ๆ เช่น พรหมชาลสูตร (ที.สี.) ธัมมทายาทสูตร (ม.ม.) จูฬสีหนาทสูตร (ม.ม.) จันทูปมสูตร (สํ.นิ.) ปุตตมังสูปมสูตร (สํ.นิ.) อัคคิกขันธูปมสูตร (สํ.นิ.) เผณ? ปิณฑูปมสูตร (สํ.นิ.) 
โครงสร้างของพระสูตร มีองค์ประกอบ ๓ ส่วน คือ
๑.  คำขึ้นต้นหรือข้อความเบื้องต้น ที่เรียกว่านิทานวจนะ ได้แก่ข้อความที่ท่านพระอานนท์กล่าวว่า “เอวมฺเม สุตํ? เป็นต้นไปจนจบข้อความที่บอกถึงความเป็นมาของพระสูตรนั้น ๆ
๒.  เนื้อหาของพระสูตรหรือข้อความที่เป็นพระพุทธภาษิตหรือสาวกภาษิตเป็นต้น ได้แก่ข้อความที่ต่อจากนิทานวจนะเป็นต้นไปจนถึงนิคมวจนะ
๓.  คำลงท้ายหรือข้อสรุป ที่เรียกว่านิคมวจนะ ได้แก่ข้อความที่ต่อจากเนื้อหาของพระสูตร เช่นข้อความที่ขึ้นต้นว่า “อิทมโวจ ภควา?
พระสูตรที่มีองค์ประกอบครบทั้ง ๓ ส่วนนี้ถือว่ามีความงาม ๓ อย่าง คือ (๑) งามในเบื้องต้นด้วยนิทานวจนะ (๒) งามในท่ามกลางด้วยเนื้อหาที่เป็นพระ พุทธภาษิตหรือสาวกภาษิต 
นอกจากนี้ พระสูตรแต่ละสูตรในพระสุตตันตปิฎก ล้วนมีรูปแบบอย่างใด อย่างหนึ่งหรือหลายอย่าง ในรูปแบบ ๙ อย่างแห่งพุทธพจน์ ที่มีชื่อเฉพาะว่า “นวังคสัตถุศาสน์? (คำสั่งสอนของพระศาสดามีองค์ ๙) 
พระสุตตันตปิฎกแบ่งออกเป็น ๕ นิกาย คือ
๑.  ทีฆนิกาย
๒.  มัชฌิมนิกาย
๓.  สังยุตตนิกาย
๔.  อังคุตตรนิกาย
๕.  ขุททกนิกาย
มีอักษรย่อว่า ที ม สํ อํ ขุ 
คำว่า “นิกาย? แปลว่า หมวดหรือหมู่ หมายถึงหมวดหรือหมู่ของพระสูตร การจัดแบ่งหมวดหรือหมู่ของพระสูตร พระสังคีติกาจารย์ (พระเถระผู้ทำสังคายนาพระธรรมวินัย) ใช้เกณฑ์ดังนี้
๑.  แบ่งตามความยาวของพระสูตร คือรวบรวมพระสูตรที่มีความยาวมากไว้เป็นหมวดหนึ่งหรือหมู่หนึ่ง เรียกว่า ทีฆนิกาย (หมวดยาว) รวบรวมพระสูตรที่มี ความยาวปานกลางไว้เป็นหมวดหนึ่งหรือหมู่หนึ่ง เรียกว่า มัชฌิมนิกาย (หมวด ปานกลาง)
ส่วนพระสูตรที่มีขนาดความยาวน้อยกว่านั้นแยกไปจัดแบ่งไว้ในหมวดอื่นและด้วยวิธีอื่นดังจะกล่าวในข้อ ๒ ข้อ ๓ และข้อ ๔ ตามลำดับ
๒.  แบ่งตามเนื้อหาสาระของพระสูตร คือประมวลพระสูตรที่มีเนื้อหาสาระประเภทเดียวกัน จัดไว้เป็นหมวดเดียวกัน เรียกว่า สังยุตตนิกาย (หมวดประมวล เนื้อหาสาระ) เช่นประมวลเรื่องที่เกี่ยวกับพระมหากัสสปเถระเข้าไว้เป็นหมวดเดียวกัน เรียกว่า กัสสปสังยุต
๓.  แบ่งตามลำดับจำนวนองค์ธรรมหรือหัวข้อธรรมะ คือรวบรวมพระสูตรที่มีหัวข้อธรรมะเท่ากันเข้าไว้เป็นหมวดเดียวกัน เรียกว่า อังคุตตรนิกาย (หมวดยิ่ง ด้วยองค์) และมีชื่อกำกับหมวดย่อยว่า นิบาต มี ๑๑ นิบาต คือหมวดพระสูตรที่มีหัวข้อธรรม ๑ ข้อ เรียกว่า เอกกนิบาต ที่มี ๒ ข้อ เรียกว่า ทุกนิบาต ที่มี ๓ ข้อ เรียกว่า ติกนิบาต ที่มี ๔ ข้อ เรียกว่า จตุกกนิบาต ที่มี ๕ ข้อ เรียกว่า ปัญจกนิบาต ที่มี ๖ ข้อ เรียกว่า ฉักกนิบาต ที่มี ๗ ข้อ เรียกว่า สัตตกนิบาต ที่มี ๘ ข้อ เรียกว่า อัฏฐกนิบาต  ที่มี ๙ ข้อ เรียกว่า นวกนิบาต ที่มี ๑๐ ข้อ เรียกว่า ทสกนิบาต และ ที่มี ๑๑ ข้อ เรียกว่า เอกาทสกนิบาต
๔.  จัดแยกพระสูตรที่ไม่เข้าเกณฑ์ทั้ง ๓ ข้างต้นไว้เป็นหมวดเดียวกัน เรียกว่า ขุททกนิกาย (หมวดเล็กน้อย) แบ่งตามหัวข้อใหญ่เป็น ๑๕ คัมภีร์ คือ (๑) ขุททกปาฐะ (๒) ธัมมปทะ (ธรรมบท) (๓) อุทาน (๔) อิติวุตตกะ (๕) สุตตนิบาต (๖) วิมานวัตถุ (๗) เปตวัตถุ
(๘) เถรคาถา (๙) เถรีคาถา (๑๐) ชาตกะ (๑๑) นิทเทส (๑๒) ปฏิสัมภิทามัคคะ (ปฏิสัมภิทามรรค) (๑๓) อปทาน (๑๔) พุทธวังสะ (๑๕) จริยาปิฎก
ทีฆนิกายมีพระสูตรรวม ๓๔ สูตร แบ่งย่อยออกเป็นวรรค (ตอน) ได้ ๓ วรรค คือ
๑.  สีลขันธวรรค   มี   ๑๓   สูตร
๒.  มหาวรรค   มี   ๑๐   สูตร
๓.  ปาฏิกวรรค   มี  ๑๑   สูตร 
การตั้งชื่อวรรค ท่านตั้งตามเนื้อหาในพระสูตรที่ ๑ ของวรรคก็มี ตามชื่อพระสูตรที่ ๑ ของวรรคก็มี กล่าวคือ ในสีลขันธวรรคมีพรหมชาลสูตรเป็นพระสูตรที่ ๑ พระสูตรนี้ว่าด้วยเรื่องศีลและทิฏฐิ ท่านจึงตั้งชื่อว่า สีลขันธวรรค แปลว่า ตอนที่ว่าด้วยกองศีล ในมหาวรรคมีมหาปทานสูตร เป็นพระสูตรที่ ๑ พระสูตรนี้ว่าด้วยข้อ อ้างใหญ่ คือกล่าวถึงพระประวัติของพระพุทธเจ้าทั้งหลายตั้งแต่อดีตกาล จนมาถึงสมัยของพระพุทธเจ้าองค์ปัจจุบัน ท่านจึงตั้งชื่อว่า มหาวรรค แปลว่า ตอนใหญ่ ในปาฏิกวรรคมีปาฏิกสูตรเป็นพระสูตรที่ ๑ พระสูตรนี้ว่าด้วยนักบวชเปลือยชื่อ ปาฏิกบุตร ท่านจึงตั้งชื่อว่า ปาฏิกวรรค แปลว่า ตอนปาฏิกบุตร




พัฒนาการแห่งพระไตรปิฎก



 
พัฒนาการแห่งพระไตรปิฎก
พัฒนาการของการรวบรวมพระธรรมวินัยเป็นพระไตรปิฎก
๑. ภาษาพระไตรปิฎก (ภาษามคธหรือบาลี)
๒. กำเนิดพัฒนาการและการถ่ายทอดพระไตรปิฎก
๓. โครงสร้างและสาระสังเขปของพระไตรปิฎก
คำว่า “พระไตรปิฎก” (บาลี _ติปิฏกํ หรือ เตปิฏกํ) มาจาก พระ (คำยกย่อง แปลว่าประเสริฐ) ไตร (สาม) ปิฎก (ปิฎก) รวมแล้วแปลว่า ปิฎกสามอันประเสริฐ
คำว่า “ปิฎก” (บาลี_ปิฏกํ) พระอรรถกถาจารย์ได้ให้ความหมายไว้ ๒ ประการ คือ
๑. ปิฎก หมายถึง คัมภีร์หรือตำรา ดังประโยคบาลีว่า มา ปิฎกสมฺปทาเนน
อย่าเชื่อถือโดยการอ้างตำรา
๒. ปิฎก  หมายถึง ภาชนะ (เช่น ตะกร้า) ดังประโยคว่า
อถ ปุริโส อาคจฺเฉยฺย กุทฺทาลปิฏกมาทาย 
ครั้งนั้นบุรุษคนหนึ่งถือจอบและตระกร้าเดินมา
ปิฎก ๓
๑. พระวินัยปิฎก  ว่าด้วยวินัย หรือข้อบัญญัติเกี่ยวกับความประพฤติความเป็นอยู่ขนบธรรมเนียม และการดำเนินกิจการต่างๆ ของภิกษุสงฆ์และภิกษุณีสงฆ์
๒. พระสุตตันตปิฎก ว่าด้วยพระสูตรหรือเทศนาที่ตรัสแก่บุคคลต่างๆ ในเวลาและสถานที่แตกต่างกัน เป็นรูปคำสนทนาโต้ตอบบ้าง คำบรรยายธรรมบ้าง เป็นรูปร้อยกรองบ้าง ร้อยแก้วบ้าง ร้อยแก้วผสมร้อยกรองบ้าง ตลอดถึงเทศนาของพระสาวกสำคัญบางรูป

๓. พระอภิธรรมปิฎก  ว่าด้วยหลักธรรมต่างๆ ที่อธิบายในแง่วิชาการล้วนๆ ไม่เกี่ยวด้วยบุคคลหรือเหตุการณ์ ส่วนมากเป็นคำสอนด้านจิตวิทยาและอภิปรัชญาในพระพุทธศาสนา
การจัดรูปแบบพุทธวจนะในสมัยพุทธกาล
สมัยพระพุทธเจ้ายังทรงพระชนม์อยู่นั้น  หลักธรรมคำสอนต่างๆ ของพระองค์ยังมิได้จัดเป็นหมวดหมู่หรือเป็นระเบียบแบบแผนแต่อย่างใด ยังไม่มีพระไตรปิฎกบันทึก
คำสอนดังที่เราเห็นอยู่ในปัจจุบัน พุทธวจนะหรือคำสอนของพระพุทธเจ้ามีชื่อเรียกกันสมัยนั้น ๒ อย่าง คือ
๑. เรียก พรหฺมจริย (พรหมจรรย์) ดังพระพุทธพจน์ที่ตรัสเมื่อครั้งทรงส่งพระอรหันตสาวก ๖๐ รูป ไปเผยแผ่พระพุทธศาสนาครั้งแรกว่า
จรถ ภิ กฺขเว จาริกํ พหุชนหิตาย พหุชน  สุขาย โลกานุกมฺปาย อตฺถาย หิตาย   สุขาย เทวมนุสฺสานํ เทเสถ ภิกฺขเว ธมฺมํ อาทิกลฺยาณํ มชฺเฌ   กลฺยาณํ ปริโยสาณกลฺยาณํ สาตฺถํ สพฺยญฺชนํ เกวลปริปุณฺณํ ปริสุทฺธํ พฺรหฺมจริยํ ปกาเสถ
ภิกษุทั้งหลาย พวกเธอจงเที่ยวไป เพื่อประโยชน์เกื้อกูลแก่่พหูชน เพื่อความสุขแก่พหูชน เพื่ออนุเคราะห์โลก เพื่อประโยชน์เกื้อกูล เพื่อความสุขแก่เทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย
ภิกษุทั้งหลาย พวกเธอจงแสดงธรรมอันงามใน     เบ้ื้องต้น งามในท่ามกลาง งามในที่สุด จงประกาศพรหมจรรย์ พร้อมทั้งอรรถและพยัญชนะอันบริสุทธิ์บริบูรณ์โดยสิ้นเชิง
๒. เรียกว่า ธมฺมวินย (ธรรมวินัย) ดังพุทธพจน์ที่ตรัสแก่พระอานนท์ ก่อนเสด็จดับขันธปรินิพพานว่า
โย โว อานนฺท มยา ธมฺโม จ วินโย จ เทสิโต ปญฺญตฺโต โส โว มมจฺจเยน สตฺถา
อานนท์ ธรรม และ วินัย ใด ที่เราตถาคตแสดงไว้แล้ว บัญญัติไว้แล้ว ธรรม และ วินัย นั้น จะเป็นศาสดาของพวกเธอ เมื่อเราตถาคตล่วงลับไปแล้ว 
แบ่งเป็นนวังคสัตถุสาสน์
มีหลักฐานบางประการบ่งชี้ว่า ได้มีการแบ่งพุทธพจน์เป็นรูปแบบใดรูปแบบหนึ่งบ้างแล้ว เช่น แบ่งเป็น สัตถุสาสน์ ๙ ประการ และ วรรค ดังนี้ คือ
๑. สุตตะ คำสอนประเภทร้อยแก้วล้วน อรรถกถาอธิบายว่า ได้แก่      อุภโตวิภังค์ (ปาติโมกข์ทั้งสองฝ่าย) ขันธกะ บริวาร นิเทศ และ พระสูตรในสุตตันตนิบาต รวมทั้งสูตรอื่นๆ›ที่ไม่มีชื่อกำกับว่า “สูตร” ด้วย
๒. เคยยะ คำสอนประเภทร้อยแก้วผสมร้อยกรอง หมายเอาพระสูตรที่มีคาถาทั้งหมดโดยเฉพาะสคาถวรรคสังยุตตนิกาย
๓. เวยยากรณะ คำสอนประเภทที่เป็นอรรถาธิบายโดยละเอียดเป็นร้อยแก้วล้วนๆ เช่น อภิธรรมปิฎก พระสูตรที่ไม่มีคาถา และพระพุทธพจน์อื่นที่ไม่นับเข้าในองค์ ๘ ข้อที่เหลือ
๔. คาถา คำสอนประเภทร้อยกรองล้วน เช่น ธรรมบท เถรคาถา เถรีคาถา และคาถาล้วนในสุตตนิบาต  ที่ไม่มีชื่อกำกับว่า “สูตร”
๕. อุทาน คำสอนประเภทที่เปล่งขึ้นจากแรงบันดาลใจของพระพุทธเจ้าและพระสาวกส่วนมากจะเป็นบทร้อยกรอง
๖. อิติวุตตกะ คำสอนประเภทอ้างอิง ที่ยกข้อความที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ มาอ้างเป็นตอนๆ ได้แก่ พระสูตรสั้นๆ ๑๑๐ สูตร ที่ขึ้นต้นด้วยคำว่า “วุตฺตํ เหตํ ภควตา”
๗. ชาตกะ (ชาดก) คำสอนประเภทนิทานชาดก หรือเรื่องราวในชาติปางก่อนของพระพุทธเจ้า ขณะเป็นพระโพธิสัตว์บำเพ็ญบารมีอยู่
๘. อัพภูตธรรม คำสอนประเภทเรื่องอัศจรรย์เกี่ยวกับพระพุทธเจ้าและพระสาวกทั้งหลาย เช่น พระพุทธองค์สมัยอยู่ในพระครรภ์พระนางสิริมหามายา นั่งสมาธิผินพระพักตร์›ออกมาทางด้านหน้าพระอุทร ไม่แปดเปื้อนด้วยมลทินครรภ์เหมือนทารกธรรมดาทั่วไป
๙. เวทัลละ คำสอนประเภทคำถาม _ คำตอบ เวทัลละ แปลว่า ได้ความรู้ ความปลื้มใจ หมายถึงการจัดรูปแบบหรือการแบ่งหมวดหมู่ที่เก่าแก่มาก เท่าที่มีหลักฐานปรากฏ
แบ่งเป็นวรรค
นอกจากแบ่งเป็นนวังคสัตถุสาสน์ แล้ว ยังได้รวบรวมเป็น  วรรค ส่วนจะมีกี่วรรคนั้นสืบไม่ได้ มีหลักฐานแห่งเดียวในพระวินัยปิฎก  พระโสณกุฏิกัณณะ สัทธิวิหาริกของพระมหากัจจายนะ พักในที่เดียวกันกับพระพุทธเจ้า ได้สวดสรภัญญะ  พระพุทธพจน์ใน อัฏฐกวรรค ให้พระพุทธองค์ฟัง
อัฏฐกวรรค อยู่ใน ขุททกนิกาย สุตตนิบาต สูตรสั้นๆ ๑๖ สูตร
แบ่งเป็น หมวด ๑ - หมวด ๑๐
พระสารีบุตรเถระ เป็นผู้จัดแล้วนำเสนอให้สงฆ์์รับทราบซึ่งมีพระพุทธเจ้าทรงสดับอยู่ด้วย
เหตุที่จัดเป็นหมวดหมู่ ปรารภเรื่องสาวกของนิครนถ์ แตกแยกกันทางความคิด
ธรรมทั้ง ๑๐ หมวด นี้อยู่ใน          สังคีติสูตร  พระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๑ ทีฆนิกาย 
การแบ่งพระพุทธพจน์เป็นพระไตรปิฎก
หลังพุทธปรินิพพาน พระเถระผู้ใหญ่นำโดยพระมหากัสสปเถระ ได้รวบรวมพระธรรมวินัย เป็นหมวดหมู่อย่างเป็นทางการ เรียกว่า  การสังคายนา 
การทำสังคายนา
๑. การทำสังคายนาครั้งที่ ๑ 
หลังพุทธปรินิพพาน ๓ เดือน ปรารภเหตุที่หลวงตาสุภัททะ จ้วงจาบพระธรรมวินัย  มีพระอรหันต์ ๕๐๐ รูป ทำอยู่ ๗ เดือน ที่ ถ้ำสัตตบรรณคูหา ข้างภูเขาเวภารบรรพต 
เหตุการณ์สำคัญ คือ
พระปุราณ พร้อมด้วยลูกศิษย์ ไม่ยอมรับ เป็นสาเหตุให้คณะเริ่มแตกกันครั้งแรก แต่ยังไม่ถึงกับแยกเป็นนิกาย
คณะสงฆ์ ปรับอาบัติพระอานนท์ ๘ ข้อ
ฝ่ายเถรวาทไม่ถอนสิกขาบทเล็กน้อยที่ทรงอนุญาตไว้เพราะไม่รู้ว่าสิกขาบทใด 
๒. การทำสังคายนาครั้งที่ ๒
หลังพุทธปรินิพพาน ๑๐๐ ปี ปรารภ พวกภิกษุวัชชี  ชาวเมืองเวสาลี ประพฤติย่อหย่อน บัญญัติข้อที่พระพุทธองค์ไม่ได้บัญญัติไว้ ๑๐ ประการ เช่น เก็บเกลือไว้เพื่อนำมาปรุงอาหารฉันได้ตลอดไป เมื่อตะวันเลยเที่ยงไปสององคุลี ยังฉันอาหารได้ เป็นต้น
ทำที่ วาลิการาม เมืองเวสาลี มีพระอรหันต์ ๗๐๐ รูป    ทำอยู่ ๘ เดือน มีพระเถระผู้ใหญ่ ๘ รูป เป็นผู้นำ
พระสัพพกามี พระสาฬหะ พระขุชชโสภิตะ พระวาสภคามิกะ พระเรวตะ พระสัมภูตะสาณวาสี พระยสกากัณฑบุตร และพระสุมนะ
พระเจ้ากาฬาโศก เป็นผู้อุปถัมภ์
เหตุการณ์สำคัญในครั้งนี้ คือทำให้สงฆ์แตกออกเป็น สองนิกาย อย่างชัดเจน คือ เถรวาทเดิม และนิกายใหม่ ที่แยกออกมา  มหายาน
คณะสงฆ์ฝ่ายหลังทำสังคายนาใหม่ มีพระร่วมมากกว่า ฝ่ายเถรวาท (๑,๐๐๐ รูป) จึงเรียกพวกตัวเองว่า มหายาน (ยานใหญ่) เรียกพวกเดิมว่า หินยาน (ยานน้อย)
๓. สังคายนาครั้งที่ ๓ 
ทำเมื่อพุทธปรินิพพาน ๒๓๕​ ปี (บางแห่งว่า ๒๓๔ ปี) ปรารภเดียรถีย์ปลอมบวช ทำที่ อโสการาม เมืองปาฏลีบุตร มีพระโมคคัลลีบุตรเถระ เป็นประธาน
พระเจ้าอโศกมหาราชเป็นผู้อุปถัมภ์มีพระอรหันต์ร่วม ๑,๐๐๐ รูป ทำอยู่ ๙ เดือน
พระโมคคัลลีบุตร แต่งคัมภีร์กถาวัตถุ  จัดไว้ในพระอภิธรรมปิฎก
๔. การทำสังคายนาครั้งที่ ๔ 
ทำหลังพุทธปรินิพพาน ๒๓๘ ​ปี พระมหินทเถระ เป็นประธาน พระเจ้าเทวา นัมปิยติสสะ เป็นผู้อุปถัมภ์ ทำที่ ศรีลังกา
๕. การทำสังคายนาครั้งที่ ๕ 
หลังพุทธปรินิพาพาน ๔๕๐ ทำที่อาโลกเลณสถานมตเลชนบท ชาวไทยเรียกมลัยชนบท ที่ศรีลังการ›พระรักขิตมหาเถระ เป็นประธาน พระเจ้าวัฏฏคามณีอภัย เป็นผู้อุปถัมถ์
เหตุการณ์สำคัญ
จารึกพระพุทธพจน์เป็นลายลักษณ์อักษร