วันอาทิตย์ที่ 15 ธันวาคม พ.ศ. 2556

พัฒนาการแห่งพระสูตร


พัฒนาการแห่งพระสูตร

พระสุตตันตปิฎก เป็นปิฎก ๑ ในจำนวน ๓ ปิฎกที่เรียกว่า พระไตรปิฎก คือ (๑) พระวินัยปิฎก (ประมวลพุทธพจน์หมวดพระวินัย) (๒) พระสุตตันตปิฎก (ประมวลพุทธพจน์หมวดพระสูตร) (๓) พระอภิธรรมปิฎก (ประมวลพุทธพจน์ หมวดพระอภิธรรม)
พระสุตตันตปิฎก ซึ่งประมวลพุทธพจน์หมวดพระสูตรนั้นประกอบด้วยพระธรรมเทศนาและธรรมบรรยายต่าง ๆ ที่ตรัส ยักเยื้องให้เหมาะกับบุคคล เหตุการณ์ และโอกาส ตลอดจนบทประพันธ์ เรื่องเล่า และเรื่องราวทั้งหลายที่เป็นชั้นเดิมในพระพุทธศาสนา
ที่เรียกพระธรรมเทศนาและธรรมบรรยายทั้งหลายในพระสุตตันตปิฎกว่า “สูตร? พระอรรถกถาจารย์ผู้รจนาคัมภีร์สุมังคลวิลาสินี อธิบายว่า เพราะมีความหมาย ๖ อย่าง คือ
๑.  เพราะบ่งถึงประโยชน์ (อตฺถานํ สูจนโต) คือชี้ให้เห็นประโยชน์ตนและประโยชน์ผู้อื่น
๒.  เพราะมีอรรถที่ตรัสไว้ดีแล้ว (สุวุตฺตโต) คือตรัสตามอุปนิสัย หรืออัธยาศัยของเวไนยสัตว์ (ผู้ควรแนะนำ)
๓.  เพราะผลิตประโยชน์ (สวนโต) คือก่อให้เกิดผลดุจข้าวกล้าที่เจริญ เติบโตแล้ว ผลิตรวงข้าวต่อไปได้
๔.  เพราะหลั่งประโยชน์ (สูทนโต) คือทำให้ประโยชน์หลั่งไหลออกมาดุจแม่โคนมหลั่งน้ำนมออกมา
๕.  เพราะป้องกันด้วยดี (สุตฺตาณา) คือรักษาประโยชน์ทั้งหลายไว้ได้ด้วยดี
๖. เพราะมีส่วนเสมอด้วยเส้นด้าย (สุตฺตสภาคโต) คือใช้เป็นบรรทัดฐานในการประพฤติปฏิบัติของวิญญูชนดุจเส้นบรรทัดของช่างไม้
มูลเหตุที่พระผู้มีพระภาค (รวมทั้งพระอรหันตสาวก) ทรงแสดงพระสูตร ทั้งหลาย พระอรรถกถาจารย์ผู้รจนาคัมภีร์สุมังคลวิลาสินีอธิบายว่ามี ๔ ประการ คือ
๑.  อัตตัชฌาสยะ ทรงแสดงตามพระอัธยาศัยของพระองค์เอง โดยไม่ต้องมีผู้ใดทูลขอให้ทรงแสดง เช่น อากังเขยยสูตร (ม.มู.) วัตถสูตรหรือวัตถูปมสูตร (ม.มู.) มหาสติปัฏฐานสูตร (ที.ม.) มหาสฬายตนสูตร (ม.อุ.)
๒.  ปรัชฌาสยะ ทรงแสดงตามอัธยาศัยของผู้อื่นที่ทรงตรวจดูด้วยพระญาณก่อนเสด็จไปโปรด เช่น ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร (สํ.ม., วิ.ม.) จูฬราหุโลวาทสูตร (ม.ม) ธาตุวิภังคสูตร (ม.อุ.)
๓.  ปุจฉาวสิกะ ทรงแสดงตามคำทูลถาม เช่น สามัญญผลสูตร (ที.สี.) เตวิชชสูตร (ที.สี.) สักกปัญหสูตร (ที.ม.) มังคลสูตร (ขุ.ขุ., ขุ.สุ.) พระสูตรต่าง ๆ ในโพชฌังคสังยุต (สํ.ส.) มารสังยุต (สํ.ส.) พรหมสังยุต (สํ.ส.)
๔.  อัตถุปปัตติกะ ทรงแสดงตามเรื่องหรือเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในขณะนั้น ๆ เช่น พรหมชาลสูตร (ที.สี.) ธัมมทายาทสูตร (ม.ม.) จูฬสีหนาทสูตร (ม.ม.) จันทูปมสูตร (สํ.นิ.) ปุตตมังสูปมสูตร (สํ.นิ.) อัคคิกขันธูปมสูตร (สํ.นิ.) เผณ? ปิณฑูปมสูตร (สํ.นิ.) 
โครงสร้างของพระสูตร มีองค์ประกอบ ๓ ส่วน คือ
๑.  คำขึ้นต้นหรือข้อความเบื้องต้น ที่เรียกว่านิทานวจนะ ได้แก่ข้อความที่ท่านพระอานนท์กล่าวว่า “เอวมฺเม สุตํ? เป็นต้นไปจนจบข้อความที่บอกถึงความเป็นมาของพระสูตรนั้น ๆ
๒.  เนื้อหาของพระสูตรหรือข้อความที่เป็นพระพุทธภาษิตหรือสาวกภาษิตเป็นต้น ได้แก่ข้อความที่ต่อจากนิทานวจนะเป็นต้นไปจนถึงนิคมวจนะ
๓.  คำลงท้ายหรือข้อสรุป ที่เรียกว่านิคมวจนะ ได้แก่ข้อความที่ต่อจากเนื้อหาของพระสูตร เช่นข้อความที่ขึ้นต้นว่า “อิทมโวจ ภควา?
พระสูตรที่มีองค์ประกอบครบทั้ง ๓ ส่วนนี้ถือว่ามีความงาม ๓ อย่าง คือ (๑) งามในเบื้องต้นด้วยนิทานวจนะ (๒) งามในท่ามกลางด้วยเนื้อหาที่เป็นพระ พุทธภาษิตหรือสาวกภาษิต 
นอกจากนี้ พระสูตรแต่ละสูตรในพระสุตตันตปิฎก ล้วนมีรูปแบบอย่างใด อย่างหนึ่งหรือหลายอย่าง ในรูปแบบ ๙ อย่างแห่งพุทธพจน์ ที่มีชื่อเฉพาะว่า “นวังคสัตถุศาสน์? (คำสั่งสอนของพระศาสดามีองค์ ๙) 
พระสุตตันตปิฎกแบ่งออกเป็น ๕ นิกาย คือ
๑.  ทีฆนิกาย
๒.  มัชฌิมนิกาย
๓.  สังยุตตนิกาย
๔.  อังคุตตรนิกาย
๕.  ขุททกนิกาย
มีอักษรย่อว่า ที ม สํ อํ ขุ 
คำว่า “นิกาย? แปลว่า หมวดหรือหมู่ หมายถึงหมวดหรือหมู่ของพระสูตร การจัดแบ่งหมวดหรือหมู่ของพระสูตร พระสังคีติกาจารย์ (พระเถระผู้ทำสังคายนาพระธรรมวินัย) ใช้เกณฑ์ดังนี้
๑.  แบ่งตามความยาวของพระสูตร คือรวบรวมพระสูตรที่มีความยาวมากไว้เป็นหมวดหนึ่งหรือหมู่หนึ่ง เรียกว่า ทีฆนิกาย (หมวดยาว) รวบรวมพระสูตรที่มี ความยาวปานกลางไว้เป็นหมวดหนึ่งหรือหมู่หนึ่ง เรียกว่า มัชฌิมนิกาย (หมวด ปานกลาง)
ส่วนพระสูตรที่มีขนาดความยาวน้อยกว่านั้นแยกไปจัดแบ่งไว้ในหมวดอื่นและด้วยวิธีอื่นดังจะกล่าวในข้อ ๒ ข้อ ๓ และข้อ ๔ ตามลำดับ
๒.  แบ่งตามเนื้อหาสาระของพระสูตร คือประมวลพระสูตรที่มีเนื้อหาสาระประเภทเดียวกัน จัดไว้เป็นหมวดเดียวกัน เรียกว่า สังยุตตนิกาย (หมวดประมวล เนื้อหาสาระ) เช่นประมวลเรื่องที่เกี่ยวกับพระมหากัสสปเถระเข้าไว้เป็นหมวดเดียวกัน เรียกว่า กัสสปสังยุต
๓.  แบ่งตามลำดับจำนวนองค์ธรรมหรือหัวข้อธรรมะ คือรวบรวมพระสูตรที่มีหัวข้อธรรมะเท่ากันเข้าไว้เป็นหมวดเดียวกัน เรียกว่า อังคุตตรนิกาย (หมวดยิ่ง ด้วยองค์) และมีชื่อกำกับหมวดย่อยว่า นิบาต มี ๑๑ นิบาต คือหมวดพระสูตรที่มีหัวข้อธรรม ๑ ข้อ เรียกว่า เอกกนิบาต ที่มี ๒ ข้อ เรียกว่า ทุกนิบาต ที่มี ๓ ข้อ เรียกว่า ติกนิบาต ที่มี ๔ ข้อ เรียกว่า จตุกกนิบาต ที่มี ๕ ข้อ เรียกว่า ปัญจกนิบาต ที่มี ๖ ข้อ เรียกว่า ฉักกนิบาต ที่มี ๗ ข้อ เรียกว่า สัตตกนิบาต ที่มี ๘ ข้อ เรียกว่า อัฏฐกนิบาต  ที่มี ๙ ข้อ เรียกว่า นวกนิบาต ที่มี ๑๐ ข้อ เรียกว่า ทสกนิบาต และ ที่มี ๑๑ ข้อ เรียกว่า เอกาทสกนิบาต
๔.  จัดแยกพระสูตรที่ไม่เข้าเกณฑ์ทั้ง ๓ ข้างต้นไว้เป็นหมวดเดียวกัน เรียกว่า ขุททกนิกาย (หมวดเล็กน้อย) แบ่งตามหัวข้อใหญ่เป็น ๑๕ คัมภีร์ คือ (๑) ขุททกปาฐะ (๒) ธัมมปทะ (ธรรมบท) (๓) อุทาน (๔) อิติวุตตกะ (๕) สุตตนิบาต (๖) วิมานวัตถุ (๗) เปตวัตถุ
(๘) เถรคาถา (๙) เถรีคาถา (๑๐) ชาตกะ (๑๑) นิทเทส (๑๒) ปฏิสัมภิทามัคคะ (ปฏิสัมภิทามรรค) (๑๓) อปทาน (๑๔) พุทธวังสะ (๑๕) จริยาปิฎก
ทีฆนิกายมีพระสูตรรวม ๓๔ สูตร แบ่งย่อยออกเป็นวรรค (ตอน) ได้ ๓ วรรค คือ
๑.  สีลขันธวรรค   มี   ๑๓   สูตร
๒.  มหาวรรค   มี   ๑๐   สูตร
๓.  ปาฏิกวรรค   มี  ๑๑   สูตร 
การตั้งชื่อวรรค ท่านตั้งตามเนื้อหาในพระสูตรที่ ๑ ของวรรคก็มี ตามชื่อพระสูตรที่ ๑ ของวรรคก็มี กล่าวคือ ในสีลขันธวรรคมีพรหมชาลสูตรเป็นพระสูตรที่ ๑ พระสูตรนี้ว่าด้วยเรื่องศีลและทิฏฐิ ท่านจึงตั้งชื่อว่า สีลขันธวรรค แปลว่า ตอนที่ว่าด้วยกองศีล ในมหาวรรคมีมหาปทานสูตร เป็นพระสูตรที่ ๑ พระสูตรนี้ว่าด้วยข้อ อ้างใหญ่ คือกล่าวถึงพระประวัติของพระพุทธเจ้าทั้งหลายตั้งแต่อดีตกาล จนมาถึงสมัยของพระพุทธเจ้าองค์ปัจจุบัน ท่านจึงตั้งชื่อว่า มหาวรรค แปลว่า ตอนใหญ่ ในปาฏิกวรรคมีปาฏิกสูตรเป็นพระสูตรที่ ๑ พระสูตรนี้ว่าด้วยนักบวชเปลือยชื่อ ปาฏิกบุตร ท่านจึงตั้งชื่อว่า ปาฏิกวรรค แปลว่า ตอนปาฏิกบุตร




ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น